ข่าวสาร

HITAP จับมือพันธมิตร ม.สิงคโปร์ MOU ร่วมกับ ‘สกสว.-TCELS-สปสช.’ ทำ early HTA วิจัยระบบสุขภาพแขนงใหม่ เพิ่มโอกาสพัฒนานวัตกรรมสำเร็จ

HITAP ผนึกมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ร่วม 3 องค์กรในประเทศ ‘สกสว.-TCELS-สปสช.’ เซ็น MOU มุ่งงานวิจัยระบบสุขภาพแขนงใหม่ ‘early HTA’  ประเมินงานวิจัยในระยะพัฒนา สะท้อนคุ้มค่า ตรงเป้า สร้างเทคโนโลยี นวัตกรรมการแพทย์ได้จริงไม่สูญเปล่า ลดความเสี่ยงลงทุนการวิจัย สร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น

วันที่ 19 มิ.ย. 2566 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program Foundation: HITAP Foundation) ร่วมกับสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ร่วมกับพันธมิตรอีก 3  องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดลำดับความสำคัญและการประเมินเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพในประเทศไทย

รศ.ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการและนักวิจัยอาวุโส Hitap Foundation กล่าวว่า การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม หรือ early Heath Technology Assessment (early HTA) เป็นงานวิจัยแขนงใหม่ที่สามารถให้ข้อมูลและแนวทางได้ตั้งแต่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา ว่า จะต้องพัฒนานวัตกรรมให้ดีแค่ไหน หรือเพิ่มเติมในด้านใด เพื่อให้ตอบโจทย์ของตลาดหรือระบบหลักประกันสุขภาพ ข้อมูลนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จของการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ early HTA เป็นแขนงใหม่ของงานวิจัยที่หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจ โดย Hitap Foundation ได้เป็นส่วนหนึ่งในการบุกเบิกการทำงานด้าน early HTA ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเสริมศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพให้สามารถนำนวัตกรรมไปต่อยอดได้จริง ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ 

รศ.ดร.วรรณฤดี กล่าวอีกว่า ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จัดตั้งทีมงาน Medical Innovation Development and Assessment Support (MIDAS) ภายใต้ Hitap Foundation โดยทีมงานนี้มีความเชี่ยวชาญในด้าน early HTA และจะมุ่งมั่นทำงานวิจัยเพื่อให้ข้อมูลสนับสนุนผู้ผลิตนวัตกรรม เพื่อให้มีโอกาสสำเร็จสูงสุดต่อไป และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงที

“ทั้ง 5 หน่วยงานมีเป้าหมายร่วมกัน และเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือด้าน early HTA ในครั้งนี้จะนำไปสู่ความเสมอภาค ประสิทธิภาพ และความยั่งยืนในระบบบริการสุขภาพจนเป็นที่ประจักษ์ชัดได้อย่างแน่นอน” รศ.ดร.วรรณฤดี กล่าว  

ศ.เตียว อิ๊กอิง คณบดีสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ระบบสุขภาพที่มีการพัฒนาโดยตลอดจะเป็นผลดีต่อประชาชนทั่วไป แต่อีกด้านนับว่ามีความอันตรายต่อการจัดการเงินทุนด้านสุขภาพที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบด้วย

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือด้าน early HTA ระหว่างไทยและสิงคโปร์ พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเป็นการมุ่งเป้าไปที่การจัดการเงินทุนที่ยั่งยืน เพราะจะเป็นการพิจารณางานวิจัย นวัตกรรมว่ามีประสิทธิภาพและคุ้มค่า

ศ.เตียว กล่าวด้วยว่า early HTA ไม่เพียงแต่ช่วยชี้แนะแนวทางให้แก่ผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในการชี้นำผู้คิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการกำหนดสเกลงานและความครอบคลุมภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ขณะที่ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ปัจจุบัน งบประมาณลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ก่อนออกสู่ตลาดมีมูลค่ามาก ซึ่งการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีด้านสุขภาพในปัจจุบันเป็นการประเมินหลังจากที่ผลิตภัณฑ์ได้ออกสู่ตลาดแล้ว และหากผลการประเมินออกมาไม่ดี เท่ากับว่าสูญเสียงบประมาณที่ลงทุนไป

อย่างไรก็ตาม หากมีเครื่องมือที่จะมาช่วยในการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีในช่วงต้นของการลงทุนวิจัยและพัฒนา จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาครัฐและเอกชนในการลงทุน และช่วยเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น 

“สกสว. จึงยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือด้าน early HTA ในครั้งนี้ เพราะจะเป็นประโยชน์ในการช่วยภาครัฐและเอกชนตัดสินใจเรื่องการลงทุนในอนาคต” ดร.ปัทมาวดี กล่าว 

ดร. จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS กล่าวว่า TCELS มีพันธกิจสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ให้เชื่อมโยงสู่เชิงพาณิชย์ด้วยการร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ จากบทบาทของ TCELS ในการเป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในช่วงปลายนํ้า โดยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ และผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ หรือ Research utilization (RU) 

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือด้าน early HTA ในครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยให้ TCELS มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และมีความมั่นใจในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ผ่านการประเมินในระยะพัฒนานวัตกรรมมาก่อนแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดสรรงบประมาณวิจัยทางด้านการแพทย์และสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ ภายใต้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง มีเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น การประเมินเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของสิทธิประโยชน์

“สปสช. ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ และจะให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมไปถึงการผลักดันเข้าสู่สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 5 หน่วยงานจะร่วมกันส่งเสริมการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม โดยจะใช้จุดแข็งของทั้งห้าหน่วยงานมาร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว 

พร้อมกันนี้ ภายในงานยังมีการจัดการประชุมปฏิบัติการในประเด็น “วิจัยไม่สูญเปล่า: พัฒนานวัตกรรมสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่า” โดยมีวิทยากร นักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพเข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลักดันงานวิจัยด้านนโยบายสุขภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม หรือก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ผ่านการวิจัย ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และทางการตลาด