เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “วิจัยไม่สูญเปล่า: พัฒนานวัตกรรมสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่า” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภาคการประชุมของมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นักวิจัย นักพัฒนานวัตกรรม จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมฯ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เเอท เซ็นทรัลเวิลด์
ในการประชุมฯ ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการ HITAP ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการประเมินความคุ้มค่าของนวัตกรรมด้านสุขภาพ ทั้งในด้านความคุ้มค่าเพื่อการบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และความคุ้มค่าในแง่การลงทุนหรือในแง่ของผู้พัฒนานวัตกรรม โดยได้มีการยกกรณีศึกษาของนวัตกรรมด้านการแพทย์เเละสุขภาพที่ผ่านมา รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการประเมินเทคโนโลยีเเละนวัตกรรมด้านสุขภาพแบบดั้งเดิม (traditional Health Technology Assessment: traditional HTA) และการประเมินเทคโนโลยีเเละนวัตกรรมด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม (early Health Technology Assessment: early HTA)
นอกจากนี้ ภญ.ธมลวรรณ ดุลสัมพันธ์ ผู้ช่วยวิจัย HITAP และ ภญ.กานต์ชนก ศิริสอน เจ้าหน้าที่ด้านต่างประเทศ HITAP ได้ร่วมให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่อง early HTA ซึ่งเป็นกระบวนการประเมินผลกระทบล่วงหน้าที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเวชปฏิบัติหรือชีวิตประจำวันของประชาชน ภายใต้เงื่อนไขคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งการประเมินที่ว่านี้จะทำให้ผู้ลงทุนและผู้พัฒนานวัตกรรมทราบเป้าหมายคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (target product profile) ของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ต้องพัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นที่ต้องการสูงสุดของตลาดหรือตอบโจทย์ของระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมได้อย่างชัดเจน
ในการนี้ HITAP ยังได้เเนะนำ Medical Innovation Development and Assessment Support หรือ MIDAS แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ โดย MIDAS เป็นทีมงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program Foundation: HITAP Foundation) กับคณะสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (Saw Swee Hock School of Public Health, National University of Singapore) ที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน early HTA และมุ่งมั่นทำงานวิจัยเพื่อให้ข้อมูลสนับสนุนผู้ผลิตนวัตกรรมเพื่อให้มีโอกาสสำเร็จสูงสุดต่อไป รวมถึงเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงทีในอนาคต
โดย HITAP